วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

โครงการห้วยองคต
พระราชดำริ "ให้ดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และการทำมาหากินของราษฎรควบคู่ไปกับการพัฒนา และฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกทั้ง โดยเน้น การบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่"
ความเป็นมา
โครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บนเนื้อที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม จำนวน ๒๐,๖๒๕ ไร่ ตำบลสมเด็จเจริญ กิ่งอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ และการทำมาหากินของราษฎรควบคู่ไปกับ การพัฒนาและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยทรงเน้น การบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำมาหากินร่วมกับการคงอยู่ ของธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๕ โดยมีมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นผู้สนับสนุน โครงการ รวมทั้งส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ฯลฯ จะใช้พื้นที่ป่าสงวนซึ่งถูกบุกรุกทำลายจนมีสภาพเสื่อมโทรม มาดำเนินการจัดสรรให้แก่ราษฎรผู้ยากจนเข้าไปประกอบอาชีพ ซึ่งได้จัดเป็นแปลงที่ดินให้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยครอบครัวละ ๑ ไร่ ที่ดินทำการเกษตร ครอบครัวละ ๘ ไร่
วัตถุประสงค์
๑. ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมโดยการปลูกป่าไม้ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ตามเดิม
๒. บริหารทรัพยากรอย่างเหมาะสม โดยการแบ่งแยกพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนทั้งในด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟูสภาพป่า การจัดสรรที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ส่วนกลางในการก่อสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็น ต่าง ๆ
๓. จัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน พร้อมทั้งจัดระเบียบชุมชนให้ราษฎรได้เข้าอยู่อาศัย ในพื้นที่ที่จัดสรรให้อย่างเหมาะสม
๔. ส่งเสริม พัฒนาอาชีพให้มีรายได้ และสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการบริหารทรัพยากร อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม
การดำเนินงานในส่วนสหกรณ์
ในปี ๒๕๓๕ โครงการได้ดำเนินการจัดให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ตามแปลงที่อยู่อาศัย จำนวน ๑๐๐ ครอบครัว ต่อมาปี ๒๕๓๖ จัดให้ราษฎรเข้าอยู่ในแปลง จำนวน ๑๕๐ ครอบครัว และปี ๒๕๓๗ จัดให้ราษฎรเข้าอยู่ในแปลง จำนวน ๒๐๐ ครอบครัว เกษตรกรที่จะเข้าอยู่ในโครงการจะต้องได้รับการอบรมตามหลักสูตรของ โครงการ ซึ่งแบ่งการอบรมเป็นรุ่น ๆ โดยรุ่นแรกเริ่มอบรมในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๕ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด กาญจนบุรีได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์อำเภอบ่อพลอย ซึ่งเดิมไม่ได้แยกเป็นกิ่งอำเภอหนองปรือ ได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปร่วมอบรมราษฎรที่จะเข้าไปอยู่ในโครงการ จำนวน ๓๐๐ คน รวม ๓ รุ่น เพื่อให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ สหกรณ์
ในปี ๒๕๓๖ ทางราชการได้จัดตั้งกิ่งอำเภอหนองปรือ ซึ่งแยกจากอำเภอบ่อพลอย ราษฎรที่เข้าอยู่ใน โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสมเด็จเจริญได้ยื่นคำร้องขอจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร สมเด็จเจริญ จำกัด ขึ้น โดยมีผู้แสดงความจำนงขอจัดตั้งสหกรณ์จำนวน ๖๒ คน ทุนเรือนหุ้น ๒,๘๐๐ บาท นายทะเบียนได้รับจดทะเบียนให้สหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๓๖ และเห็นชอบให้สหกรณ์ถือใช้วงเงิน กู้ยืมหรือค้ำประกันได้ภายในจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรสมเด็จเจริญ จำกัด ได้กำหนดปีทางบัญชีสิ้นสุด ๓๐ มิถุนายน ของทุกปี ในปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ สหกรณ์ได้ดำเนินงานโดยใช้ทุนจากทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ จำนวน ๑๑,๗๙๓ บาท และสินเชื่อทางการค้า สหกรณ์ได้ดำเนินงานโดยจัดหา สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกเป็นจำนวนเงิน ๑๐,๗๕๖ บาท สิ้นปีสหกรณ์มีกำไรสุทธิ ๑,๔๙๓.๖๕ บาท และในปี ๒๕๓๘ มีกำไรสุทธิ ๒๗๔.๙๓ บาท ส่วนปี ๒๕๓๙ อยู่ระหว่างการปิดบัญชี
สหกรณ์ไม่มีพนักงานและใช้บ้านสมาชิกเป็นสำนักงานชั่วคราว ในปัจจุบันมูลนิธิพัฒนาชนบท (บริษัทซีพี) ได้เข้าดำเนินงานในโครงการซึ่งจะช่วยให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และสหกรณ์สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
แผนการแนะนำส่งเสริมในปีงบประมาณ ๒๕๔๐
เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๙ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดกรอบอัตรากำลัง ให้สำนักงานสหกรณ์ กิ่งอำเภอหนองปรือ จำนวน ๒ อัตรา คือ สหกรณ์อำเภอ ระดับ ๖ กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ ระดับ ๓ ซึ่งมีแผนในการแนะนำส่งเสริมสหกรณ์การเกษตรสมเด็จเจริญ จำกัด ในปีงบประมาณ ๒๕๔๐ ดังนี้
๑. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์อุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์แก่เกษตรกรในเขตโครงการห้วยองคต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้มีความรู้ความเข้าใจและสมัครเป็นสมาชิกของสหกรณ์โดยดำเนินการ ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๓๙ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๐ คาดว่าจะรับสมาชิกเพิ่มได้ ๒๐๐ คน
๒. จัดประชุมใหญ่สามัญเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ดำเนินการเดือนมกราคม ๒๕๔๐
๓. จัดอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการดำเนินการ ประธานกลุ่มและเลขานุการกลุ่มดำเนินการเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐
โครงการปลูกหญ้าแฝก
".....การที่จะมีต้นไม้ไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การปลูกป่า และปลูกป่าบริเวณต้นน้ำซึ่งเป็นยอดเขา และเนินสูงนั้น ต้องมีการปลูกป่าโดยไม้ยืนต้นและปลูกไม้ฟืน ซึ่งไม้ฟืนนั้นราษฎรสามารถนำไปใช้ได้ แต่ต้อง มีการ ปลูกทดแทนเป็นระยะ ส่วนไม้ยืนต้นจะช่วยให้อากาศมีความชุ่มชื้น เป็นขั้นตอนหนึ่งของระบบการให้ฝนตกแบบธรรมชาติ ทั้งยังช่วยยึดดินบนเขาไม่ให้พังทลายเมื่อ เกิดฝนตกอีกด้วย ซึ่งถ้ารักษาสภาพป่าไม้ไว้ดีแล้ว ท้องถิ่นก็จะมีน้ำใช้ ชั่วกาลนาน...."
พระราชดำรัส ๑๔ เมษายน ๒๕๒๐พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในปัญหาปริมาณป่าไม้ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ลดลงอย่าง รวดเร็ว พระองค์ท่านได้พยายามคิดค้นหาวิธีนานาประการที่จะเพิ่มปริมาณของป่าไม้ในประเทศไทยให้มากขึ้นอย่าง มั่นคงและถาวร โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะ ธรรมชาติดั้งเดิม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนึงถึงความสอดคล้องเกื้อกูลกันระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ความเข้าใจถ่องแท้ถึงธรรมชาติและสภาวะตามธรรมชาติ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติของพระองค์นั้น ทำให้เกิดแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรป่าไม้ซึ่งพระองค์ ได้เสนอแนวคิดเรื่อง " ปลูกป่า ๓ อย่าง เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง" กล่าวคือเพื่อมิให้เกษตรกรเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ จึงควรให้ดำเนินการ ปลูกป่า ๓ อย่าง
เพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอย ป่าสำหรับเป็นไม้ผล และ ป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ป่าหรือสวนป่าเหล่านี้นอกจากเป็นการเกื้อกูลและอำนวยประโยชน์ใน ๓ อย่างนั้นแล้ว ป่าไม้ไม่ว่าเป็นชนิดใดก็จะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำและคงความชุ่มชื้นไว้ อันเป็นการอำนวย ประโยชน์อย่างที่ ๔ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ "การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าพระทัยอย่าง ลึกซึ้งถึงวิถีธรรมชาติ โดยได้ พระราชทานแนวคิดว่า บางครั้งป่าไม้ก็เจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ขอเพียงอย่าเข้าไปรบกวนและทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากปล่อยไว้ตามสภาพ ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ป่าไม้ก็ จะขึ้นสมบูรณ์เอง การระดมปลูกป่าด้วยความไม่เข้าใจ เช่น ปอกเปลือกหน้าดินซึ่งมีคุณค่ามากออกไปและปลูกพันธุ์ไม้ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและระบบนิเวศบริเวณนั้น นอกจากต้นไม้ที่ปลูกจะตายโดยไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังทำลายสภาพแวดล้อมอีกด้วย แนวความคิดที่ลึกซึ้งนี้จึงเป็น ที่มาของคำว่า "ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก" ซึ่งเป็นที่ยึดถือกันในหมู่ผู้รู้ทั่วไป
ภารกิจหลักของกรมทางหลวง คือการก่อสร้างและบำรุงทางหลวงทั่วประเทศ และการก่อสร้างทางหรือ ขยายทาง ในบางครั้งในบางพื้นที่นั้นจำเป็นต้องตัดต้นไม้ที่มีอยู่สองข้างทางเดิมออกบ้าง เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณจราจร ที่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมากรมทางหลวงไม่เคยทอดทิ้งความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างทางแต่ละสายทางจะรักษาต้นไม้ที่มีอยู่เดิมไว้ ให้มากที่สุด หากจำเป็นต้องตัดก็จะมีการปลูกเพิ่มเติม โดยมีแนวทางการปลูกต้นไม้สองข้างทางกำหนดเป็นแบบมาตรฐานไว ้ในแผนงานก่อสร้าง ทางทุกสายทาง ซึ่งการปลูกต้นไม้ดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางด้านวิศวกรรมและภูมิสถาปัตย์แล้ว ยังทำให้เกิด ความสวยงาม ร่มรื่น และเพื่อรักษา สภาพแวดล้อมอีกด้วย จากภารกิจดังกล่าว
กรมทางหลวงยังดำเนินการปลูกต้นไม้ในพื้นที่นอกเขตทางที่เป็นที่ดินสงวนซึ่งกระจายอยู่ในพื่นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในรูปแบบของการจัดทำเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนและในลักษณะของสวนป่า เพื่อให้เกิดความร่มรื่น สวยงาม และเป็นการสร้างความเขียวขจีให้กับประเทศ และการดำเนินการอันสำคัญยิ่งสำหรับกรมทางหลวงก็คือ
โครงการปลูกต้นไม้เพื่อถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังต่อไปนี้
๑. โครงการปลูกซ่อมแซมต้นไม้ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ โครงการปลูกป่าถาวร เฉลิมพระเกียรติเริ่มต้น ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ จากมติคณะรัฐมนตรี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายชวน หลีกภัย ได้อนุมัติให้จัดทำโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชปีที่ ๕๐ ขึ้น โดยความร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งกระทรวงคมนาคมและกรมทางหลวงได้เริ่มดำเนินการปลูกต้นไม้ เพื่อร่วม โครงการดังกล่าว นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๓๗-๒๕๓๙ ตามแผนงานการปลูกป่าสองข้างทางหลวงแผ่นดินและ ทางรถไฟ โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บริเวณสองข้างทางหลวงทั่วประเทศในสายทางต่าง ๆ รวมระยะทาง ๒๐,๐๐๐ กิโลเมตร จำนวน ๑๕ ล้านต้น บนเนื้อที่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งในครั้งนั้นใช้ชื่อโครงการว่า " ป่าเขียวขจีสองข้างทางหลวง" โดยมีวัตถุ ประสงค์ดังนี้
- สนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการปลูกต้นไม้รักษาสิ่งแวดล้อม
- เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าตามนโยบายรัฐบาล
- เพื่อให้ต้นไม้ให้ความร่มรื่น สวยงาม เป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์ป่า
- เพื่อลดมลภาวะและป้องกันภัยธรรมชาติ
- เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม
๒. โครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ ๗๒ พรรษา โครงการนี้กรมทางหลวงจัดทำขึ้นเพื่อปลูกต้นไม้ยืนต้นที่จะเติบโตเป็นต้นไหญ่ ให้ร่มเงา และมีดอกสวยงามตลอดสองข้างทางหลวงและในเกาะกลางบริเวณถนนที่จะเข้าสู่ตัวเมืองสำคัญและเข้าสู่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๖ รอบ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๒ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๑-๒๕๔๒ จำนวน ๕๔๓,๙๒๕ ต้น ใน ๒๔๙ สายทาง ซึ่งกรมทางหลวงได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ในโครงการนี้แล้วเสร็จรวมทั้งสิ้น ๗๑๒,๙๒๓ ต้น นอกจากนี้ กรมทางหลวงยังมีโครงการปลูกต้นไม้เนื่องในวโรกาสสำคัญ ๆ เช่น โครงการปลูกต้นไม้สองข้างทางและในเกาะกลางถนน กำหนดระยะ เวลา ๕ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๕ จำนวน ๓,๖๔๘,๗๗๙ ต้น ใน ๕๙๓ สายทาง โดยใน พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้ดำเนิน การปลูกไปแล้ว ๑,๐๙๖,๙๓๗ ต้น ใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ปลูกไปแล้วจำนวน ๙๑๗,๒๗๐ ต้น และใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ปลูกไปแล้วจำนวน ๗๔๗,๒๒๒ ต้น
โครงการปลูกซ่อมแซมต้นไม้ในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒-๒๕๔๖ จำนวน ๔,๗๙๖,๒๓๒ ต้น ใน๘๒๔ สายทาง ซึ่งใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ดำเนินการปลูกไปแล้วจำนวน ๑,๑๖๑,๕๓๒ ต้น และใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ปลูกไปแล้วจำนวน ๑,๐๙๙,๒๒๕ ต้น โครงการปลูกต้นไม้ เฉลิมพระเกียรติครบรอบ ๑๐๐ ปี สมเด็จย่า ณ บริเวณชุมทางต่างระดับพุทธมณฑลสาย ๒ โครงการ ปลูกต้นไม้ โครงการ ๙ นาที ๙ ล้านต้น เพื่อล้นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยร่วมกับกรมป่าไม้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้บริเวณพื้นที่สำนักงานตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การปลูกต้นไม้ตาม สถานที่ต่าง ๆ นั้น กรมทางหลวงได้คัดเลือกพันธุ์ไม้โดยยึดหลักความเหมาะสมกับพื่นที่ในแต่ละภาคของประเทศ เช่น สะเดา ขี้เหล็ก สักทอง มะขาม หางนกยูง ราชพฤกษ์ ต้นปีบ ทรงบาดาล เฟื่องฟ้า เป็นต้น
ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้พร้อม ๆ ไปกับการก่อสร้างและบำรุง รักษาเส้นทาง ทั้งนี้เพื่อให้ต้นไม้บริเวณสองข้างทางและในพื้นที่ดินของกรมทางหลวงทั่วประเทศเป็นแหล่งป่าไม้ที่ให้ความร่มรื่น เขียวขจี ก่อให้เกิด ความชุ่มชื้นแก่แผ่นดิน เป็นการสืบสานแนวพระราชดำริในการปลูกป่าของ " พ่อของแผ่นดิน "
โครงการพระราชดำริอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักพัฒนา
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม, สำนักงาน กปร., สำนักงานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, นิตยสารลุมพินี

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญที่มักจะเกิดควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตของประเทศ ซึ่งพบ นทุกประเทศ และประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าวอยู่ในขณะนี้

เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยการนำเอาทรัพยากร ธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ แต่ไม่ได้มีการวางแผนการจัดการที่เหมาะสมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง และปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้มีการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิธีการจะทำนุบำรุงและปรับปรุงสภาพทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ในด้านต่างๆ โดยในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้น ทรงเน้นงานการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ อย่างยิ่งในเรื่องของปัญหาน้ำเน่าเสีย

พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ได้แก่
หลักการ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" หลักการบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับ ระบบการเติมอากาศ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด และ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้คือ
ทฤษฎี "น้ำดีไล่น้ำเสีย"
ได้ทรงนำหลักการบำบัดน้ำเสียโดยการทำให้เจือจางตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" โดยใช้หลักการตามธรรมชาติแห่งแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นการใช้น้ำคุณภาพดีมาช่วยบรรเทาน้ำเน่าเสีย ดังพระราชดำรัส เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในอำเภอธัญบุรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 "..แต่ 3,000 ไร่นั่นมันอยู่สูง จะนำน้ำโสโครกจากที่นี่ไปที่โน่นต้องสูบไปไม่ไหว แต่ว่าจะทำเป็นบึงใหญ่ที่จะเก็บน้ำได้สำหรับเวลาหน้าน้ำมีน้ำเก็บเอาไว้ หน้าแล้งก็ปล่อยลงมา ส่วนหนึ่งอาจปล่อยลงมา สำหรับล้างกรุงเทพฯ ได้เจือจางน้ำโสโครกในคลองต่างๆ.."
อีกทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริโดยรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งเข้าไปตามคลองต่างๆ เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองแสนแสบ คลองเทเวศร์ และคลองบางลำภู เป็นต้น โดยกระแสน้ำจะไหลแผ่กระจายขยายไปตามคลองซอยที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่ง ดังนั้น เมื่อทำการปล่อยน้ำให้ไหลเวียนจากปากคลองไปปลายคลองได้อย่างเหมาะสม ก็ย่อมจะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียได้มาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง
การบำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการปรับปรุงคุณภาพของแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้ว เช่น บึงและหนองต่างๆ เพื่อทำเป็นแหล่งบำบัดน้ำเสีย โดยหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ โครงการบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการ บำบัดน้ำเสีย ตามแนวทฤษฎีการ พัฒนาโดยการกรองน้ำเสียด้วยผักตบชวา
การบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบเติมอากาศด้วยทรงห่วงใยในปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดขึ้นในหนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งรับน้ำเสียจากครัวเรือน ในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร ที่มีสภาพเกินขีดความสามารถในการรองรับของเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่าง "พืช" กับ "ระบบการเติมอากาศ" ณ บริเวณหนองสนม-หนองหาน จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีธรรมชาติกับเทคโนโลยีแบบประหยัด
โดยมีกรมประมงร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการศึกษาและก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในบริเวณดังกล่าว โดยมีระบบบำบัดด้วยพืชน้ำซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติในพื้นที่ 84.5 ไร่ และได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2537
การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด
โครงการวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหาภาวะมลพิษที่มีผลต่อการดำรงชีพของประชาชน อันเนื่องมาจากชุมชน เมืองต่างๆ ยังขาดระบบบำบัดน้ำเสียและการกำจัดขยะมูลฝอยที่ดีและมีประสิทธิภาพ จึงทรงให้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ขึ้นในพื้นที่ 1,135 ไร่ โดยเป็นโครงการศึกษาวิจัยวิธีการบำบัดน้ำเสีย กำจัดขยะมูลฝอยและการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วย วิธีธรรมชาติ
กังหันน้ำชัยพัฒนา
ปัจจุบัน สภาพมลภาวะทางน้ำมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องกลเติมอากาศเพิ่มออกซิเจนเพื่อการบำบัด น้ำเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอุปกรณ์การเติมอากาศ และทรงค้นคิดทฤษฎีบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการเติมอากาศ โดยใช้วิธีทำให้อากาศสามารถละลายลงไปในน้ำเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและการเพาะตัวอย่างรวดเร็วของแบคทีเรีย จนมีจำนวนมากพอที่จะทำลายสิ่งสกปรกในน้ำให้หมดสิ้นไปโดยเร็วตามแนวทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งเป็นรูปแบบสิ่งประดิษฐ์ที่เรียบง่าย ประหยัด เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียที่เกิดจากแหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม และได้มีการนำไปใช้งานทั่วประเทศ
การกำจัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ
ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาทดลองวิจัยดูว่า จะใช้ "ปลา" บางชนิดกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่ ปลาเหล่านี้น่า จะเข้า ไปกินสารอินทรีย์ในบริเวณแหล่งน้ำเสีย ซึ่งปรากฏว่าปลาบางสกุลมีอวัยวะพิเศษในการหายใจ เช่น ปลากระดี่ ปลาสลิด เหมาะแก่การเลี้ยงในน้ำเสีย และชอบ กินสารอินทรีย์ จึงช่วยลดมลภาวะในแหล่งน้ำ วิธีการนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดน้ำเสียได้ ซึ่งจะมีต้นทุนต่ำ และสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำได ้อีกทางหนึ่ง
ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม "องค์การอาหารและ เกษตรแห่งสหประชาชาติ" (เอฟเอโอ) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญสดุดีพระเกียรติคุณในด้านการพัฒนาการเกษตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอุทิศพระองค์ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยโดยเฉพาะผู้ซึ่งประกอบ อาชีพเพาะปลูก บำรุงรักษาน้ำ และบำรุงรักษาป่า ซึ่งทรงยึดหลัก "สนับสนุนการพัฒนาแบบยั่งยืนเพื่อความมั่นคงในอนาคต" เป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้ประจักษ์ชัดเจน จากความสำเร็จ ในด้านการพัฒนา
เอฟเอโอออกแถลงการณ์สดุดีพระองค์ว่า ทรงพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับความยุติธรรมของสังคม ซึ่งได้ปรากฏเห็นเป็นตัวอย่างจากนโยบายเรื่องการแบ่งที่ดินทำกินเพื่อเกษตรกรและผู้ทำนุบำรุงรักษาป่า ทรงวิริยะอุตสาหะในเรื่องการกักเก็บน้ำให้เพียงพอเพื่อประกันผลผลิตอาหาร การอนุรักษ์สันปันน้ำและป้องกัน การ กัดเซาะผิวดิน ซึ่งสนับสนุนแผยแพร่การเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งรวบรวมแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และขยายพันธุ์สัตว์ให้เจริญเติบโตขึ้น
ตลอดจนการบำรุงผิวดิน ทรงมีพระอุตสาหะอันสูงส่งในการสงวนรักษาพันธุ์พืช ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อมนุษยชาติในการค้นคว้าเรื่องอาหาร ทั้งนี้ เนื่องจากทรงมีสายพระเนตรอันกว้างไกลในการที่จะทำให้โลกปราศจากความหิวโหยและประชาชน มีอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ฝายแม้ว คือ สิ่งก่อสร้างขวางหรือกั้นทางน้ำ ซึ่งปกติมักจะกั้นลำห้วยลำธารขนาดเล็กในบริเวณที่เป็นต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงให้สามารถกักตะกอนอยู่ได้ และหากช่วงที่น้ำไหลแรงก็สามารถชะลอ การไหลของน้ำให้ช้าลง และกักเก็บตะกอนไม่ให้ไหลลงไปทับถมลำน้ำตอนล่าง ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง
รูปแบบและลักษณะฝายนั้น ได้พระราชทานพระราชดำรัสว่า “ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบหินทิ้งคลุมด้วยตาข่ายปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้  ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ ”

“.......สำหรับต้นน้ำไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณสองข้างลำห้วย จำเป็นต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะจะช่วยเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ ส่วนตามร่องน้ำและบริเวณที่น้ำซับก็ควรสร้างฝายขนาดเล็กกั้นน้ำไว้ในลักษณะฝายชุ่มชื้น แม้จะมีจำนวนน้อยก็ตามสำหรับแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก จึงสร้างฝายเพื่อผันน้ำลงมาใช้ในพื้นที่เพาะปลูก......”
นอกจากนี้ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึง ฝายต้นน้ำลำธาร ในรายการ "นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน" ทางคลื่น F.M. 92.5 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม         2547 เวลา 08.00 น. ดังนี้

",,,
ฝายแม้ว หรือ เช็คแดม ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริตามแบบที่ได้ทรงทำที่ห้วย ฮ่องไคร้ที่เชียงใหม่ ผมก็เลยมอบนโยบายตามแนวพระราชดำรินี้ไปให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหลายว่า เพื่อให้ภูเขาต่างๆ ได้เขียว เพราะไม่งั้นความแห้งแล้งจะได้เกิดขึ้นตลอด เขาก็ไปทำฝายแม้วที่หนองบัวลำภู   ซึ่งผมไปดูมา เขานั้นแห้งแล้งมาก แต่ปรากฏว่าพอฝนเริ่มตกมาก็มีน้ำ ฝายแม้วทั้งหลายก็กักเก็บน้ำได้นิดหน่อยๆ เพื่อให้เกิดความชื้นของภูเขา เพราะเขาลูกหนึ่งมีตั้งพันกว่าเขื่อน ส.ส.มาบอกผมว่าไปตรวจอีกครั้งหนึ่งตอนนี้เริ่มมีลูกอ๊อดแล้ว เต็มไปหมด ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นมันมีของมันอยู่ เมื่อมีความชุ่มชื้น ธรรมชาติกลับคืนมานี่ สิ่งที่มันเป็นสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติ มันก็จะเริ่มฟื้นคืนขึ้นมา    และมันเป็นวิถีชีวิต มันเป็นของที่ควบคู่กับชาวบ้าน ผมก็ดีใจว่า สิ่งเหล่านี้ได้ผลรวดเร็วมาก ทุกจังหวัดก็ได้ทำกัน ทีนี้ป่ามันก็จะคืนสภาพได้ต่อมา เหมือนที่ห้วยฮ่องไคร้ซึ่งป่าถูกทำลายทั้งเขา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำตามที่ผมเล่าให้ฟังนี่ ก็ปรากฏว่าป่าก็คืนสภาพ ไก่ป่า    ไก่อะไรก็เกิดขึ้นมาเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นอันนี้เราจะต้องฟื้นคืนสภาพ,,,,"

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ต้อนรับเพื่อนๆ..เปิดเทอมใหม่...1/2554

สวัสดีคะเพื่อนใหม่เป็นไงบ้าง
ถ้าเพื่อนว่าง....โปรดแวะมาหากันหน่อย
ปิดเทอมนาน....นานมากเราเฝ้าคอย
เปิดเทอมค่อยสดชื่น....ระรื่นเริง

ด้วยความคิดถึง.....จาก ยุ้ย อิ อิ